การประกาศพระคำ
โดย ปีเตอร์ อัมสเตอร์ดัม
[Preaching the Gospel]
คำอำลาบางส่วนของพระเยซู ก่อนที่จะขึ้นสู่สวรรค์ เป็นถ้อยแถลงงานพันธกิจที่มอบหมายแก่ให้สาวก “ท่านจงออกไปทั่วโลก ประกาศข่าวประเสริฐแก่มนุษย์ทุกคน”[1]
สี่สิบสามวันก่อนหน้า พระองค์สิ้นใจบนไม้กางเขน และสามวันหลังจากนั้น พระองค์ฟื้นคืนชีพ โดยมีวัตถุประสงค์ที่แท้จริง คือ มนุษยชาติจะได้มีโอกาสรับการให้อภัยจากบาป ได้สมานไมตรีกับพระเจ้า และมีชีวิตนิรันดร์ พระเยซูบรรลุผลงานพันธกิจที่เสร็จลุล่วงแล้วในโลกนี้ การที่พระองค์สิ้นใจ และฟื้นคืนชีพ ช่วยให้เป็นไปได้ที่เราจะรับความรอด พระองค์ช่วยให้เป็นไปได้ที่เราจะอยู่กับพระองค์ตลอดไป
ในช่วงปีท้ายๆ ของชีวิต พระองค์ได้มอบแผนยุทธศาสตร์สองต่อ คือ การประกาศข่าวสารเรื่องอาณาจักรและความรอด รวมทั้งให้หากลุ่มแกนนำ ผู้ซึ่งจะอ้าแขนรับคำสอนของพระองค์ และช่วยกระจายข่าวสารออกไป เพื่อสร้างสาวก เมื่อพระองค์ถ่ายทอดทุกสิ่งที่จำเป็นให้แก่สาวกแล้วพระองค์ก็จากไปได้ แล้วพระวิญญาณบริสุทธิ์จะมามอบพลังให้เหล่าสาวก เพื่อกระจายข่าวสารออกไปทั่วโลก
พระองค์ทำงานช่วยเหลือสาธารณชนตลอดหลายปี โดยใช้เวลาประกาศ สั่งสอน และฝึกอบรม
ภายหลังการรับบัพติศมาจากยอห์น ผู้ให้บัพติศมา ที่แม่น้ำจอร์แดน ภายหลังการอดอาหาร 40 วัน 40 คืน พระเยซูไปที่เมืองคาเปอรนาอุม ในแคว้นกาลิลี นับจากนั้นมา ตามที่กล่าวไว้ในพระกิตติคุณของมาระโก พระองค์ก็เริ่ม “ประกาศข่าวประเสริฐเรื่องอาณาจักรของพระเจ้า และกล่าวว่า ‘ถึงเวลาที่กำหนดไว้แล้ว และอาณาจักรของพระเจ้าใกล้เข้ามาแล้ว จงกลับใจและเชื่อข่าวประเสริฐ’”[2]
พระเยซูบ่งบอกอย่างชัดเจนว่า การที่พระองค์ประกาศพระกิตติคุณ คือเหตุผลหนึ่งที่พระองค์มายังโลกนี้ เมื่อพระองค์กล่าวว่า “เราต้องไปประกาศเรื่องอาณาจักรของพระเจ้าแก่เมืองอื่นด้วย ที่เรามาก็เพราะเหตุนี้”[3]
พระเยซูถูกส่งมาประกาศพระกิตติคุณ และพระองค์สอนสาวกให้ทำเช่นเดียวกัน
พระองค์ใช้เขาไปประกาศอาณาจักรของพระเจ้า และรักษาคนเจ็บป่วยให้หาย[4]
พระองค์สอนให้สาวกทำเช่นเดียวกัน จากแบบอย่างของพระองค์ โดยให้โอกาสเขามีประสบการณ์ในการประกาศด้วยตนเอง
“พระบิดาใช้เรามาฉันใด เราก็ใช้ท่านไปฉันนั้น”[5]และก่อนหน้าที่จะขึ้นสู่สวรรค์ พระองค์ประกาศว่า
ท่านจะได้รับพลังอำนาจ เมื่อพระวิญญาณบริสุทธิ์จะลงมาเหนือท่าน ท่านจะเป็นพยานฝ่ายเรา ทั้งในกรุงเยรูซาเล็ม ทั่วแคว้นยูเดีย แคว้นสะมาเรีย จนถึงที่สุดปลายแผ่นดินโลก”[6]
จากการประกาศพระกิตติคุณ ความเชื่อของคริสเตียนจะแพร่กระจายไป ด้วยการเป็นพยาน ของขวัญคือความรอด จากการที่พระเยซูสิ้นชีวิต จะถูกส่งมอบต่อให้แก่ผู้อื่น ถ้าหากสาวกรุ่นแรกไม่ประกาศพระกิตติคุณ และสอนให้คนอื่นทำเช่นเดียวกัน ก็คงไม่มีใครล่วงรู้ถึงพระกิตติคุณ พระเจ้าได้มอบสิ่งที่ยิ่งใหญ่ให้แก่เรา ซึ่งช่วยเปลี่ยนชีวิตผู้คนชั่วนิรันดร์ เราจึงมีความรับผิดชอบในฐานะสาวก ที่จะมอบให้แก่ผู้อื่น เพื่อให้เขาได้รับโอกาสเช่นเดียวกัน
สาวกประกาศพระกิตติคุณด้วยถ้อยคำที่เขากล่าว ด้วยชีวิตที่เขาดำเนินอยู่ และด้วยภาพสะท้อนของพระวิญญาณพระเจ้าในใจเขา
ส่วนหนึ่งในการประกาศพระกิตติคุณคือ การดำเนินชีวิตโดยที่ผู้คนเห็นแสงสว่างของพระเจ้าในตัวคุณ ได้แก่ ความห่วงใย ความชื่นชมยินดี ความซื่อสัตย์ ภาพสะท้อนของพระเจ้า ความรักของพระองค์ในใจคุณ และพระวิญญาณที่สถิตอยู่ในคุณ คุณมีแสงสว่างแห่งชีวิต มีพระเยซูในใจคุณ ถ้าคุณดำเนินชีวิตตามความศรัทธา ผู้คนจะเห็นว่าคุณใช้ชีวิตด้วยการมอบความสว่างให้แก่ผู้อื่น เมื่อผู้คนเห็นคุณ และสิ่งที่คุณทำ เขาก็จะเห็นและสัมผัสพระวิญญาณของพระเจ้า
พระองค์ขอให้เราดำเนินชีวิตโดยสื่อความหมายถึงพระองค์ต่อผู้อื่น ไม่ใช่เฉพาะถ้อยคำ ทว่าด้วยการกระทำและความจริง แน่นอนว่าถ้อยคำก็มีความสำคัญ เพราะคุณอธิบายเรื่องความรอดถ้อยคำ และบอกเล่าถึงความรักของพระเยซู แต่การกระทำ คุณความดี แบบอย่าง ความรักความกรุณาที่มอบให้แก่ผู้คน และการที่คุณห่วงใยเขา ทั้งหมดที่กล่าวมานี้จะแสดงให้เห็นว่าถ้อยคำที่คุณกล่าวถึงพระเยซูนั้นเป็นจริง เพราะผู้ที่คุณพูดคุยด้วยจะสัมผัสพลังของพระองค์ที่สะท้อนออกมาให้เห็น
สาวกได้รับมอบหมายให้พร้อมที่จะเป็นพยาน อธิษฐานให้ผู้อื่น และหล่อเลี้ยงผู้คนที่พระเจ้าให้พบปะบนเส้นทางชีวิต 2 ทิโมธี 4:2 บ่งบอกถึงหลักการนี้ไว้เป็นอย่างดี ว่า “จงประกาศพระคำ พร้อมที่จะดำเนินการ ทั้งในยามที่มีโอกาสและไม่มีโอกาส”ข้อความที่ว่า “ในยามที่มีโอกาสและไม่มีโอกาส” คำแปลในพระคัมภีร์บางฉบับมีใจความว่า มีความมุ่งมั่น ไม่ว่าจะสะดวกหรือไม่ ทำต่อไปเมื่อมีโอกาส และในเวลาที่ไม่เหมาะ มีความมุ่งมั่น ไม่ว่าโอกาสเป็นใจหรือไม่เป็นใจ เราบอกไม่ได้ว่าเมื่อใดคุณจะพบปะกับใครที่ต้องการข่าวสารจากพระเจ้า เมื่อถึงเวลา ในฐานะที่เป็นสาวก คุณควรพร้อมที่จะมอบความจริงจากพระเจ้าให้แก่เขา
พระเยซูพร้อมที่จะตอบสนองความจำเป็น ไม่ว่าสภาพการณ์จะเป็นเช่นไร พระองค์เผชิญหน้ากับฝูงชนในสถานการณ์ต่างๆ ซึ่งพระองค์ต้องลงมือดำเนินการทันที เพื่อเป็นพยาน มอบความรัก ชนะใจ เยียวยารักษา ให้อภัย และทำมหัศจรรย์ พระองค์รับมือกับทุกโอกาส
ยกตัวอย่างเช่น หญิงชาวสะมาเรีย[7] งานสมรสที่คานา[8] หญิงผู้ล่วงประเวณี[9] นักปกครองหนุ่มผู้ร่ำรวย[10] ศักเคียส[11] ปีลาต[12] และโจรที่ถูกตรึงกางเขน[13] พระเยซูพร้อมเสมอ ทั้งในยามที่มีโอกาสและไม่มีโอกาส พระองค์พร้อมทุกเมื่อ สำหรับใครก็ตามที่พระบิดานำมาให้พบปะบนเส้นทางชีวิตของพระองค์
พระเยซูหยิบยื่นความเอื้อเฟื้อแก่ผู้ที่พระองค์มุ่งหมายจะช่วยเหลือ คือคนบาปที่ต้องได้รับความรอด ผู้คนที่พระองค์พบปะ และทานอาหารด้วย ไม่ใช่คนที่ได้ชื่อว่าชอบธรรม หรือผู้ที่“ดำเนินชีวิตถูกต้อง”เสมอไป พระองค์พร้อมที่จะหล่อเลี้ยงผู้ที่คนอื่นปฏิเสธ ได้แก่ คนเก็บภาษีที่ใครๆ เกลียดชัง คนบาป คนที่สกปรกและไม่ควรค่า พระองค์ถูกวิพากษ์วิจารณ์ เมื่อพระองค์มีสัมพันธภาพกับคนชายขอบสังคมเหล่านั้น แต่พระองค์บ่งบอกอย่างชัดเจนว่าดวงวิญญาณทุกดวงมีความสำคัญ ไม่ว่าสภาพการณ์ของเขาจะเป็นเช่นไร
ทุกคนมีค่าต่อพระเจ้า พระองค์ต้องการให้ทุกคนได้รับความรอด พระองค์ชื่นชมเมื่อเขามีความรอด พระเจ้าไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ไม่ว่าผู้คนจะมีสถานภาพอย่างไร ก็ล้วนเป็นคนบาปต่อหน้าพระองค์ เขาต้องได้รับความรักและการไถ่บาปจากพระองค์ คริสเตียนมีหน้าที่ประกาศพระกิตติคุณแก่ทุกคน โดยเฉพาะผู้ที่พระองค์นำมาสู่เส้นทางชีวิตของเรา
การพร้อมที่จะแบ่งปันพระกิตติคุณกับผู้คนบนเส้นทางชีวิต หมายความว่าไม่จำกัดเฉพาะคนที่คุณเป็นพยาน คนที่คุณสอนหรือปลูกฝังให้เป็นสาวกเท่านั้น แต่กับผู้ที่คุณคุ้นเคยหรือเป็นกันเองด้วย การเข้าถึงคนระดับล่าง ชนชั้นกลางและชั้นสูงในวงสังคม มีความสำคัญต่อพระองค์ พระองค์สร้างสาวกจากใครก็ได้ ผู้ซึ่งเปลี่ยนจิตใจ เรียนรู้ที่จะรักพระองค์ และต้องการรับใช้พระองค์ ใครก็ตามที่พระเจ้านำสู่เส้นทางชีวิตของคุณ ใครก็ตามที่พระองค์มอบหมายให้คุณเข้าถึง คือผู้ที่คุณควรจะเป็นพยานด้วย และช่วยหล่อเลี้ยง ขอให้พร้อมเสมอ ทั้งในยามที่มีโอกาสและไม่มีโอกาส
จัดพิมพ์ครั้งแรก เดือนมกราคม ค.ศ. 2012 ปรับเปลี่ยนและจัดพิมพ์ใหม่ เดือนมิถุนายน ค.ศ. 2016