มณีมีค่าเรื่องการอธิษฐาน
มาเรีย ฟอนเทน
การอธิษฐานจนเป็นนิสัย
“จงวางใจในพระเยโฮวาห์สุดหัวใจของเจ้า อย่าพึ่งพาความเข้าใจของตนเอง จงให้พระองค์มีส่วนรับรู้ในทุกลู่ทางของเจ้า และพระองค์จะทำให้วิถีของเจ้าราบรื่น ”— สุภาษิต 3:5-6[1]
อาจเป็นการล่อใจและเป็นสิ่งที่พวกเราส่วนใหญ่มักจะชอบทำ โดยที่มัวแต่วิตกกังวลหรือถกกันถึงปัญหา จนละเลยที่จะฝากไว้กับพระองค์ ฉันคิดว่าการตอบรับเช่นนี้มักจะเกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ มากกว่าที่จะตั้งใจทำกัน เราเพียงแต่ลืมอธิษฐาน เพราะว่าเรายังไม่ได้อธิษฐานจนเป็นนิสัยที่ดี
ฉันคิดว่าหนึ่งในประโยคสำคัญที่สุดที่เราควรจะเสนอแนะและนำมาใช้พูดคุยกันบ่อยๆ คือ “มาอธิษฐานกันดีไหม” เราจำเป็นต้อง “เตือนสติกันเป็นประจำ เมื่อยังเรียกได้ว่าเป็นวันนี้” และ “ให้เราพิจารณากัน เพื่อเป็นเหตุให้บังเกิดใจรักกัน และกระทำการดี”[2]
เคล็ดลับในการหมั่นอธิษฐานและการดำเนินชีวิตด้วยใจอธิษฐานโดยตลอดนั้น คือ การอธิษฐานจนเป็นนิสัย ไม่มีอะไรวิเศษหรือเร้นลับสักนิด คุณเพียงแต่ต้องทำต่อไปเรื่อยๆ และอธิษฐานกันต่อไป โดยหมั่น “ให้พระองค์มีส่วนในทุกลู่ทาง”[3] แม้แต่ตอนที่เราร่วมมิตรภาพหรือถกถึงปัญหาต่างๆ ทำไมไม่ขอให้พระองค์อวยพรเวลานั้น และขอให้เติมเต็มด้วยสิ่งที่พระองค์ต้องการ ถ้าหากเราทราบอย่างเฉพาะเจาะจงแล้วว่าต้องการทำอะไร อย่างน้อยเราก็ขอให้พระองค์อวยพร เราอาจขอทางแก้ไขปัญหาใดๆ จากพระองค์ก็ได้
พวกเราส่วนมากจำได้ที่จะอธิษฐานก่อนเข้านอน และเมื่อแรกตื่นนอนตอนเช้า หรือก่อนทานอาหาร แต่การที่จะอธิษฐานจนเป็นนิสัยอย่างแท้จริง คุณต้องรวมการอธิษฐานไว้ในชีวิตของคุณ
การอธิษฐานต้องกลายเป็นนิสัย การที่จะทำอะไรให้เป็นนิสัยต้องอาศัยความพากเพียรชั่วระยะเวลาหนึ่ง ตามปกติมักจะมีการหลงลืมบ่อยๆ และก็จำได้บ้าง แล้วในที่สุดเราก็จะเริ่มจำได้มากกว่าลืม การอธิษฐานก็เหมือนเรื่องอื่นๆ ที่คุณทำจนเป็นนิสัย นอกจากนี้ต้องอาศัยการอธิษฐานขอให้พระองค์ช่วยคุณเพาะนิสัยดังกล่าวนี้ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ นี่ต้องอาศัยการที่เรามีความพากเพียร
โดยทั่วไปแล้วเรามักจะมีแผนการของเราเอง และอาจจะเป็นแผนที่ดีทีเดียว แต่จะเป็นอย่างไรถ้าพระองค์ต้องการเปลี่ยนแผน ถ้าหากเราไม่อธิษฐาน เราจะพลาดโอกาสทำสิ่งที่พระองค์ต้องการให้เราทำ ในวันที่พระองค์อยากทำอะไรแตกต่างไป พระองค์ไม่สามารถชี้ให้เราเห็น เพราะเราไม่ได้ถามและรับฟังพระองค์จนเป็นนิสัย
เราควรจะอธิษฐานเกี่ยวกับทุกสิ่งทุกอย่าง นี่เองเราถึงควรที่จะ “อธิษฐานอย่าได้เว้น”[4] เราต้องมุ่งมั่นที่จะอธิษฐานจนเป็นนิสัย ในเรื่องที่ตามปกติแล้วเราไม่ได้อธิษฐาน พระองค์ต้องการให้เราเสนอเรื่องเพื่อพระองค์จะได้มีส่วนร่วมในทุกด้าน “ให้พระองค์มีส่วนรับรู้ในทุกลู่ทาง และพระองค์จะชี้ทางของเจ้าให้แจ่มแจ้ง”[5]
สภาวะการหมั่นอธิษฐานอยู่เสมอ
“จงอธิษฐานในพระวิญญาณทุกโอกาส ด้วยการอธิษฐานและการวิงวอนทุกรูปแบบ โดยคำนึงถึงสิ่งนี้ จงเฝ้าระวังด้วยความมานะอดทน และด้วยการวิงวอนเผื่อผู้คนของพระเจ้าเสมอ” — เอเฟซัส 6:18[6]
แม้แต่ในยามที่เราประสบปัญหาร้ายแรงมาก หรือว่าเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งเราต้องอธิษฐานอย่างสุดจิตสุดใจ และอธิษฐานต่อไปเรื่อยๆ เราไม่อาจหยุดงานทั้งหมดเสมอไป โดยไม่ทำอะไรเลย นอกจากนั่งอธิษฐาน หลังจากที่เราอธิษฐานอย่างสุดจิตสุดใจ และฝากสถานการณ์นั้นไว้ให้พระองค์จัดการดูแล จากนั้นเราก็มักจะต้องอธิษฐานไปด้วยทำงานไปด้วย โดยที่ระลึกถึงเรื่องนั้นเสมอ เมื่อใดที่มีเวลาชั่วครู่ในระหว่างการงานต่างๆ ตอนที่ไม่ต้องจดจ่อกับเรื่องอื่น ก็เป็นช่วงเวลาที่เราอาจขอความช่วยเหลือจากพระองค์ต่อไป และขอให้พระองค์ช่วยกอบกู้สถานการณ์ดังกล่าว
เราอยู่ในสภาวะที่หมั่นอธิษฐานอยู่เสมอได้ โดยการ “อธิษฐานไม่ได้ว่างเว้น” และมีใจอธิษฐานไม่ได้ขาด ไม่ว่าเราจะทำอะไรอยู่ก็ตาม เราอธิษฐานต่อไปได้เรื่อยๆ สำหรับสถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อใดที่เรานึกถึงเรื่องนั้นขึ้นมา แต่เราต้องทำงานต่อไปเรื่อยๆ เราต้อง “ทำงานที่พระองค์ส่งเรามาทำเมื่อยังวันอยู่ ค่ำคืนจะมาถึงเมื่อไม่มีผู้ใดทำงานได้”[7]
ขอบคุณพระเจ้าสำหรับสถานการณ์ที่สุดวิสัย
“เราคือพระเยโฮวาห์ พระเจ้าของมวลมนุษยชาติ มีสิ่งใดยากเกินไปสำหรับเราหรือ” — เยเรมีย์ 32:27[8]
ต้องอาศัยสถานการณ์สุดวิสัย พระองค์ถึงจะทำมหัศจรรย์ได้ ดังนั้นสถานการณ์สุดวิสัยก็ท้าทายความศรัทธาของเรา เพราะแสดงให้เราเห็นว่าถ้าปราศจากพระองค์ เราก็ทำอะไรไม่ได้เลย[9] พระองค์ต้องการให้เราถวายสง่าราศีแด่พระองค์ พระองค์ต้องการให้เราเห็นว่าพระองค์ทรงพลัง พระองค์ทำอะไรก็ได้ตามความประสงค์ ไม่ว่าสภาพการณ์จะเป็นเช่นไร นอกจากนี้พระองค์ให้สถานการณ์เช่นนั้นเกิดขึ้น เพื่อเราจะได้ขอความช่วยเหลือจากพระองค์อย่างสุดจิตสุดใจ และหมายพึ่งพระองค์
ดังนั้นเราก็ไม่ควรจะพร่ำบ่น เมื่อเกิดสถานการณ์สุดวิสัย โดยโอดครวญ และคิดว่า “โธ่ ปัญหาใหญ่เหลือเกิน ทีนี้เราจะทำยังไงดี” เราควรจะยอมรับความท้าทายดังกล่าว เพื่อรอคอยด้วยใจกระตือรือร้นต่อทางแก้ของพระเจ้า และคาดหมายด้วยใจศรัทธาต่อสิ่งที่พระองค์ทำ เพราะน่าตื่นเต้นที่จะได้เห็นพระองค์ดำเนินการ
ยิ่งมีสถานการณ์สุดวิสัยมากเท่าไร พระองค์ก็ยิ่งทำมหัศจรรย์มากขึ้นเท่านั้น และเราก็จะมีศรัทธามากขึ้นสำหรับคราวหน้า ทุกครั้งที่พระองค์ได้รับชัยชนะ และทำมหัศจรรย์ ก็จะช่วยเสริมสร้างศรัทธาให้เราสำหรับคราวต่อไป แต่ละครั้งศรัทธาของเราก็จะเพิ่มพูนขึ้น เพื่อเราจะได้รอคอยต่อไปเรื่อยๆ ด้วยความรู้สึกท้าทายว่า “พระองค์จะทำอะไรคราวนี้” “ศรัทธามาจากการฟังพระคำของพระเจ้า”[10] ในแต่ละกรณีเช่นนี้ เราต้องยึดมั่นอยู่กับพระองค์และพระคำของพระองค์อย่างใกล้ชิดแน่ๆ แล้วศรัทธาของเราก็จะเพิ่มพูนขึ้นแต่ละครั้ง ดังนั้นขอพระองค์สำหรับชัยชนะแสนวิเศษ
ความสำคัญในการอธิษฐานถึงเรื่องเล็กน้อย
“จงหมายพึ่งพระองค์ และพลังอำนาจของพระองค์ จงแสวงหาพักตร์ของพระองค์เสมอ” — 1 พงศาวดาร 16:11
วิธีหนึ่งที่พระองค์ใช้เพื่อให้เราอธิษฐานเสมอจนเป็นนิสัย คือการสอนให้เราอธิษฐานถึงเรื่องเล็กน้อย เพราะถ้าเราอธิษฐานเฉพาะเรื่องใหญ่ เรื่องใหญ่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก อย่างน้อยก็ไม่บ่อยากพอที่จะทำให้เราต้องอธิษฐานจนเป็นนิสัย แต่เรื่องเล็กน้อยเกิดขึ้นกับเราเสมอ ถ้าเราอธิษฐานจนเป็นนิสัยสำหรับเรื่องเล็กน้อยที่เกิดขึ้น เราก็จะอธิษฐานจนเป็นนิสัยสำหรับทุกสิ่งทุกอย่างโดยอัตโนมัติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใหญ่หรือเรื่องเล็ก
อีกเหตุผลหนึ่งที่เราต้องหมั่นอธิษฐานถึงเรื่องเล็กน้อยอย่างสัตย์ซื่อ ก็เพื่อเป็นสัญญาณบ่งบอกให้พระองค์รู้ว่าเราต้องการให้พระองค์มีส่วนร่วมในทุกแง่มุมของชีวิตเราทั้งชีวิต แทนที่จะให้พระองค์มีส่วนร่วมในสถานการณ์ที่ “สำคัญๆ” เท่านั้น
พระองค์มีคำตอบ
“ตราบใดที่ท่านแสวงหาพระองค์ พระเจ้าก็ประทานความสำเร็จให้กับท่าน”— 2 พงศาวดาร 26:5
ช่างแสนวิเศษที่พระองค์นำสิ่งที่เราคิดว่ายุ่งยากและสับสน แล้วพระองค์ก็ชี้ให้เราเห็นว่าจะชัดเจนและง่ายดายมากแค่ไหน เมื่อพระองค์บอกเรา หรือเปิดหูเปิดตาเรา บ่อยครั้งเมื่อสิ่งต่างๆ ดูยากเย็นและยุ่งเหยิง เมื่อเราหาทางแก้ไม่ได้เสียที เมื่อสิ่งต่างๆ ดูสลับซับซ้อนอย่างไม่น่าเชื่อ ถ้าเราเพียงแต่หมายพึ่งพระองค์ และแสวงหาพระองค์สุดจิตสุดใจ พระองค์จะให้คำตอบง่ายดายที่สุดที่ทำให้เราอัศจรรย์ใจ และกล่าวว่า “ทำไมนะฉันมองไม่เห็นมาก่อน ฉันน่าจะเห็นขอนั้น ฉันเบาปัญญาเหลือเกิน”
แม้แต่เรื่องสลับซับซ้อนที่สุด จะกลับง่ายดายและชัดเจนมากในทันทีทันใด
จัดพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ เมษายน ค.ศ.1990 ปรับเปลี่ยนและจัดพิมพ์ใหม่ เดือนสิงหาคม ค.ศ.2014