ฝึกความมีน้ำใจ
บทเรียบเรียง
มีเมตตาต่อกัน มีใจเอ็นดูต่อกัน และอภัยโทษให้กัน เหมือนดังที่พระเจ้าได้โปรดอภัยโทษให้ท่าน เพื่อเห็นแก่พระคริสต์ — เอเฟซัส 4:32[1]
*
พจนานุกรมฉบับเว็บสเตอร์ ให้คำนิยาม “kind” (น้ำใจ) ว่า เห็นใจ อ่อนโยน เมตตากรุณา ไม่ใช่เพียงข้อความในเอเฟซัส 4:32 ที่รวมการให้อภัยไว้กับน้ำใจ ทว่าในเพลงสดุดี 86:5 ก็เช่นกัน ซึ่งมีใจความว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ พร้อมที่จะประทานอภัย เปี่ยมด้วยความเมตตาต่อบรรดาผู้ที่ร้องทูลพระองค์” การให้อภัยจะง่ายขึ้น เมื่อมาจากทัศนะที่มีน้ำใจ ยิ่งกว่าทัศนะที่เป็นฝ่ายตั้งรับ
เมื่อเรารู้สึกว่าถูกคุกคาม ก็เป็นธรรมดาที่เราจะตั้งรับ การมีน้ำใจแทนที่จะเป็นฝ่ายตั้งรับ หมายความว่ามีแนวโน้มที่เราจะถูกเอาเปรียบอีกครั้ง นี่เองบางครั้งการมีน้ำใจก็เป็นเรื่องยากมาก ต้องอาศัยความสามารถที่จะทำตัวอ่อนโยน แทนที่จะดุดัน คนที่มีจิตใจแข็งแกร่งถึงจะทำตัวอ่อนโยนได้ บางครั้งเราไม่รู้สึกว่าเป็นคนมีจิตใจแข็งแกร่ง ทว่าพระคัมภีร์มอบหมายไว้ให้เรามีน้ำใจ จึงมีคำสัญญาว่าจะมอบพลังให้แก่เราด้วย เพลงสดุดี 28:7 กล่าวว่า “พระเยโฮวาห์เป็นกำลังและเป็นโล่ของข้าพเจ้า จิตใจข้าพเจ้าวางใจในพระองค์ ข้าพเจ้าจึงได้รับความอุปถัมภ์ ฉะนั้นจิตใจของข้าพเจ้าจึงปีติยินดีอย่างยิ่ง ข้าพเจ้าจะสรรเสริญพระองค์ด้วยบทเพลง”— นอร์แมน ไรท์ และ เร็กซ์ จอห์นสัน[2]
*
เราอาจเชื่อว่าเรารู้จักอีกฝ่ายหนึ่ง ทว่าเราไม่มีวันรู้จริง ๆ ว่าเกิดอะไรขึ้นเบื้องหลังฉาก คุณแม่ผู้ที่คุณคิดว่าควบคุมสถานการณ์ได้ ในใจอาจรู้สึกว่าเป็นคนล้มเหลว และไม่สามารถพูดคุยเรื่องนี้กับใคร ทว่าเราทำอะไรได้บ้างล่ะ เราจะสร้างความแตกต่างได้อย่างไร
เราทำบางสิ่งได้ นี่แหละที่เราก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้
ถ้าคุณเห็นคุณแม่ผู้หนึ่ง ซื้อของเสร็จ เดินออกมาจากซูเปอร์มาร์เก็ต และยังดูอารมณ์ดี ทำไมไม่กล่าวชมว่า “ยอดเยี่ยม! ฉันนับถือคุณ สุดยอด!”
ในทางกลับกัน เมื่อเห็นคุณแม่กับเด็กกรีดร้องในซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งคราวนี้ไม่ใช่คุณที่ตกอยู่ในสภาพเช่นนั้น รอยยิ้มเป็นมิตรหรือถ้อยคำที่บ่งบอกว่า “เราทุกคนเคยเจอมาแล้ว ไม่ต้องห่วง” ก็อาจส่งผลไปแสนไกล เพื่อช่วยเธอให้ผ่านความยุ่งยากใจไปได้ ฉันขอแย้งว่าถ้อยคำที่ให้กำลังใจจากคนแปลกหน้า มีค่าพอ ๆ กับคำชมเชยจากคนที่คุณรู้จักดี ขอให้ระลึกไว้ว่าเราไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นภายใต้เปลือกนอกของใบหน้าที่อาจแต่งแต้มไว้อย่างไม่มีที่ติ
เราทุกคนต่างก็ผจญศึกเป็นส่วนตัว เราน่าจะช่วยแบ่งเบาภาระให้กัน ฉันพนันได้เลยว่าคุณนึกถึงคุณแม่จำนวนนับไม่ถ้วนที่คุณชื่นชมด้วยเหตุผลต่าง ๆ ทว่าเขารู้ข้อนี้ไหม อาจเป็นได้ไหมว่าขณะที่คุณเปรียบเทียบสภาพของคุณกับเธอ เธอก็กำลังทำเช่นเดียวกัน และคิดว่าตัวเธอเองบกพร่อง
ในบทความนี้ ฉันขอมอบการบ้านให้คุณ กรุณาก้าวออกไปสู่โลกภายนอก และฝึกความมีน้ำใจกับบรรดาคุณแม่ในวันนี้ — ราเชล[3]
*
เพียงความเห็นใจน้อยนิด
ดวงจิตเหนื่อยล้ากลับเริงร่า
น้ำใจเล็กน้อยช่วยฟื้นฟูชีวา
นำพาวันคืนสดใสเบิกบาน
ถ้อยคำเป็นมิตรมอบพลัง
จุดความหวังยามที่ขับขาน
รอยยิ้มแก่ผู้คนได้พบพาน
คงอยู่เนิ่นนานที่ส่วนลึกในใจ
—อลิซาเบธ แฮดเดน
*
สตีเฟ่น เกรลเล็ต เป็นพวกเควกเกอร์ชาวฝรั่งเศส เขาเสียชีวิตที่นิวเจอร์ซี เมื่อปี ค.ศ.1855 โลกปัจจุบันคงไม่มีใครรู้จักเกรลเล็ต นอกเสียจากถ้อยคำไม่กี่ประโยคที่ทำให้เขาเป็นอมตะ ถ้อยคำที่ได้ยินคุ้นหู ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจต่อคนจำนวนมากมีใจความว่า
“ผมจะผ่านโลกนี้แต่เพียงหน จึงกุศลใดใดที่ทำได้ หรือเมตตาซึ่งอาจให้มนุษย์ใด จะขอทำหรือมอบให้แต่โดยพลัน อย่าให้ผมละเลยเพิกเฉยเสีย หรือผัดผ่อนอ่อนเพลียไม่แข็งขัน เพราะตัวผมต่อไปนี้ไม่มีวัน จรจรัลผ่านทางนี้อีกทีเลย” — จาก Speaker’s Quote Book
*
การมอบความรักคือการแบ่งปันความรัก รักก่อให้เกิดรัก น้ำใจก่อให้เกิดน้ำใจ ความเมตตาก่อให้เกิดความเมตตา การมอบความรักให้แก่ผู้อื่น จะก่อให้เกิดการมอบความรักให้ผู้อื่นเช่นกัน นี่จะฟันฝ่ากำแพงขวางกั้น นำมาซึ่งความสามัคคี ความรัก ความห่วงใย และความเมตตากรุณาต่อกัน เมื่อเจ้าทำส่วนของเจ้าเพื่อทะลายกำแพงลง ความรักของเราจะพรั่งพรูไปสู่กันได้ ด้วยความสามัคคี การมีน้ำหนึ่งใจเดียว และผูกพันกันด้วยความรัก — พระเยซูกล่าวในคำพยากรณ์
*
ทหารอเมริกันผู้หนึ่งซึ่งเคยไปประจำการที่อิรัก เข้ารับการอบรมวิธีลดความเครียด (MBSR) ซึ่งทางกองทหารเสนอให้ตอนกลับมา เขาดิ้นรนต่อสู้กับความโมโหโทโส และวิพากษ์วิจารณ์คนอื่นอย่างรุนแรง หลังจากรับการฝึกอบรมได้สองสามสัปดาห์ เขาเริ่มรับการฝึกอบรมชั้นนำ ในการทำสมาธิเรื่อง “ความรักความกรุณา” ซึ่งเป็นการฝึกส่งความตั้งใจดีให้ตัวเองและคนอื่น ครั้งแล้วครั้งเล่า
วันหนึ่งขณะที่รอชำระเงินที่ช่องทางด่วนในซูเปอร์มาร์เก็ต หญิงที่อยู่ข้างหน้าไม่เพียงมีของเกิน 12 ชิ้น ทว่าเธอยังอวดทารกน้อยกับแคชเชียร์ ซึ่งชื่นชมและอุ้มเด็กน้อย แคชเชียร์ใช้เวลาพูดคุยกับหญิงคนนั้นนานพอสมควร “ยอดไปเลย!” เขานึก “หญิงคนนี้ไม่เพียงเข้าผิดช่อง เธอยังมัวแต่คุยเรื่องลูกอีก นี่นานกว่าที่คิด ผมเกลียดที่ต้องรอ ผมเกลียดเมื่อผู้คนไม่ทำตามกฎเกณฑ์ ทำไมแคชเชียร์คนนี้ถึงได้ช้าจัง ผมอยากต่อว่าทั้งสองคนเดี๋ยวนี้เลย!”
เมื่อเขาไปถึงจุดชำระเงินสองสามนาทีต่อมา เขาตระหนักว่าทารกน้อยน่ารักจริง ๆ เขาจึงเอ่ยปากบอกแคชเชียร์ เธอตอบว่า “โอ้ คุณคิดเช่นนั้นหรือ ขอบคุณค่ะ นั่นลูกชายฉัน สามีฉันเพิ่งเสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่เมื่อไม่นานมานี้ คุณแม่ช่วยดูลูกให้เป็นส่วนใหญ่ ท่านพาลูกมาที่นี่ทุกวัน ฉันจะได้เห็นหน้าลูก” — แจ็ค คอร์นฟิวด์[4]
*
ความรักอดทนนานและกระทำคุณให้ — 1 โครินธ์ 13:4[5]
*
พวกเราส่วนใหญ่บ่งบอกความสำนึกในบุญคุณต่อรายบุคคลในครอบครัวและเพื่อนมิตร อย่างไรก็ตาม มีหลายบุคคลที่เราไม่ล่วงรู้ ผู้ซึ่งเกื้อหนุนชีวิตของเรา ได้แก่ คนที่เก็บเกี่ยวพืชผลให้เราทาน คนงานที่บรรจุหีบห่ออาหาร ช่างไม้ที่สร้างบ้านในชุมชนของเรา คนเก็บขยะ เจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งปฏิบัติงานเพื่อให้เราปลอดภัย พยาบาลที่ดูแลคนเจ็บป่วย คนสวนที่ดูแลสวนสาธารณะ รายการนี้ไม่มีที่สิ้นสุด
ความท้าทายก็คือ การปลีกเวลาชั่วขณะในวันนั้น ๆ เพื่อสูดหายใจ มองดูรอบข้าง บ่งบอกถึงความสำนึกในบุญคุณต่ออะไรก็ตามที่เห็น อาจได้แก่ ท้องฟ้าสีคราม ช่างที่ทำรองเท้าคู่ใหม่ซึ่งคุณสวมใส่ หรือเพลงที่ฟังจากไอพอด ขอให้มองหาโอกาสที่จะฝึกความมีน้ำใจ สังเกตเห็นความจำเป็น และลงมือดำเนินการ ไม่มีการกระทำด้วยน้ำใจใด ๆ ที่เล็กน้อย เพราะว่ามีส่วนช่วยได้ที่จะเยียวยากระทบกระทั่งที่เราต่างก็ประสบในโลกที่สับสนวุ่นวาย — คอลลีน ฟลานาแกน[6]
*
ฝ่ายผลของพระวิญญาณนั้นคือ ความรัก ความปลาบปลื้มใจ สันติสุข ความอดทน ความปรานี ความดี ความสัตย์ซื่อ ความสุภาพอ่อนน้อม การรู้จักควบคุมตนเอง เรื่องเช่นนี้ไม่มีบัญญัติห้ามไว้เลย — กาลาเทีย 5:22-23[7]
*
นิโคลัสแห่งไมรา ปัจจุบันคือตุรกี ถือกำเนิดในศตวรรษที่สี่ เขามีพ่อแม่ผู้มั่งคั่ง ซึ่งเสียชีวิตตั้งแต่เขายังเด็ก สมัยที่เป็นหนุ่ม นิโคลัสอุทิศชีวิตให้พระเจ้า โดยเชื่อฟังคำสอนของพระเยซูที่ว่า “ขายทุกสิ่งที่มีอยู่ และมอบให้คนยากจน”[8] เขาใช้มรดกของเขาเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ขัดสนและทุกข์ทรมาน ผลที่สุดเขาได้รับตำแหน่งบิชอพ เขาเป็นที่รู้จักเพราะความรักและความเอื้ออารี
เรื่องราวของเขาเตือนใจว่า ความรักหมายถึงการทำอะไรเป็นพิเศษเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น การช่วยเหลือผู้อื่นในแง่ปฏิบัติ และการมีน้ำใจ คือความรับผิดชอบของเรา ต่อผู้ที่เราพบปะบนเส้นทางชีวิต — แอ็บบี้ เมย์
*
จิตใจกรุณาคือสวนพืชพันธุ์
รากเหง้านั้นคือความคิดกรุณา
ดอกไม้คือน้ำใจที่เอ่ยเป็นวาจา
ความกรุณาส่งผลเป็นพฤติกรรม
ขอให้ดูแลเอาใจใส่สวนของตน
ฝึกฝนหมั่นขจัดวัชพืชทุกเช้าค่ำ
รับแสงแดดความอบอุ่นหนุนนำ
ทั้งการกระทำและด้วยวาจา
— เฮนรี แวดส์เวิร์ธ ลองเฟลโล
*
การพูดลับหลังผู้อื่นไม่มีอะไรผิด ตราบใดที่พูดแต่สิ่งดี ๆ
เป็นไปได้ว่าสิ่งที่เจ้าพูดเกี่ยวกับคนอื่นจะไปถึงหูเขา ดังนั้นก็ใช้ข้อนี้ประเมินผล อย่าพูดถึงอะไรลับหลังคนอื่น ในสิ่งที่เราจะไม่พูดต่อหน้าเขา นี่ไม่ใช่หน้าไหว้หลังหลอก ทว่าเป็นการปฏิบัติต่อผู้อื่นในความผิดพลาดหรือข้อบกพร่องของเขา เหมือนที่เจ้าอยากให้เขาปฏิบัติต่อเจ้า
บางครั้งเจ้าอาจจะต้องถกถึงปัญหาของใครกับคนอื่น โดยเฉพาะถ้าเจ้าเป็นผู้ควบคุมดูแล ทว่าเจ้ากล่าวในแง่ที่ให้ความเคารพ และไม่ทำให้คนอื่นเห็นว่าคนที่เจ้าถกถึงนั้นด้อยค่า เมื่อเจ้าต้องกล่าวอะไรในแง่ลบ พยายามกล่าวอะไรในแง่บวกเพื่อให้ความสมดุล (ทุกคนมีคุณลักษณะที่ดีด้วย) นอกจากนี้เตือนใจตัวเองว่า เหตุผลที่เจ้าถกถึงปัญหาของบุคคลนั้น ก็เพื่อเจ้าจะได้ช่วยเขาให้เปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น การถกกันก็จะเป็นไปในแง่บวกมากขึ้น และเจ้าคงจะบรรลุผลตามเป้าหมาย คือมีการเปลี่ยนแปลงในแง่บวกเกิดขึ้น
แล้วเจ้ารู้อะไรไหม ไม่ช้าไม่นานความมีน้ำใจและการคำนึงถึงผู้อื่น จะหวนกลับมาหาเจ้า นั่นคือหลักการทางวิญญาณ ซึ่งแน่นอนพอ ๆ กับกฎธรรมชาติที่ว่า คนเราเก็บเกี่ยวผลที่หว่านไว้ ขอให้ปฏิบัติต่อทุกคนด้วยความเคารพ เจ้าจะได้รับความเคารพจากผู้อื่น
ไม่เพียงเท่านั้น ตัวอย่างของเจ้าจะส่งผลต่อผู้อื่น เจ้าอาจไม่เห็นผลลัพธ์อย่างมหาศาลในทันที ทว่าถ้าเจ้าทำต่อไป เจ้าก็สร้างสรรค์สวรรค์น้อย ๆ ในโลกส่วนที่เจ้าอยู่ นี่เป็นไปได้ และจะเริ่มต้นที่ตัวเจ้า — พระเยซูกล่าวในคำพยากรณ์
จัดพิมพ์บนไซต์จุดยึดเหนี่ยว กรกฎาคม ค.ศ. 2013
[1] พระคัมภีร์
[2] หนังสือ Communication: Key to Your Teens (สำนักพิมพ์ Harvest House ปี 1978)
[3] http://www.mamapedia.com/voices/mummy-kindness
[4] http://www.mindful.org/mindfulness-practice/compassion-and-loving-kindness/intentional-acts-of-kindness
[5] พระคัมภีร์
[6] http://thesouthern.com/lifestyles/health-med-fit/practicing-kindness-and-gratitude/article_ed0f1c14-619d-11e1-a714-0019bb2963f4.html
[7] พระคัมภีร์
[8] มัทธิว 19:21