ประเด็นสำคัญเรื่องการอธิษฐาน
โดย มาเรีย ฟอนเทน
ค่อยเป็นค่อยไป และใช้เวลารับฟังพระองค์
ฉันพบว่าเมื่อใดที่ฉันค่อยเป็นค่อยไปมากขึ้น ดูเหมือนว่าฉันไม่ต้องพักผ่อนนานนัก เพราะฉันค่อยๆ ทำไปเรื่อยๆ นั่นง่ายมากกว่า แทนที่จะเร่งรีบไม่รู้จักหยุดจักหย่อน จนในที่สุดก็หมดเรี่ยวแรง ฉันคิดว่าดีกว่ามากถ้าพยายามปรับฝีเท้าตนเองให้มากที่สุดที่จะเป็นได้ ถ้าเราค่อยเป็นค่อยไป เราก็จะใช้เวลาอธิษฐานมากขึ้นด้วย
บ่อยครั้งเมื่อฉันหยุดเพื่อนึกคิด อธิษฐาน และไตร่ตรองถึงเรื่องต่างๆ พระองค์ก็ช่วยให้ฉันนึกถึงสิ่งที่สำคัญมากๆ หรือไม่พระองค์ก็เตือนให้ฉันนึกถึงเรื่องสำคัญที่ลืมไปแล้ว หรือคงจะลืม หรือไม่พระองค์ก็จะให้ความคิดดีๆ แก่ฉันในช่วงเวลาดังกล่าว เมื่อพระองค์ทำเช่นนั้น ฉันตระหนักว่าถ้าฉันไม่หยุดและใช้เวลาดังกล่าว ฉันคงพลาดเรื่องพวกนั้นไปเสีย
เมื่อใดที่พระองค์เตือนให้ฉันนึกถึงเรื่องเช่นนั้น ฉันเล็งเห็นข้อสำคัญในการใช้เวลาหยุดเพื่ออธิษฐานและนึกถึงเรื่องต่างๆ ด้วยการปรับคลื่นให้ตรงกับพระองค์ ทำสมาธิ และตัดความคิดอื่นออกไปให้หมด และขอพระองค์ช่วยรื้อฟื้นความทรงจำของฉัน บ่อยครั้งพระองค์นำเรื่องสำคัญมาสู่ความทรงจำของฉัน ซึ่งฉันคงลืมไปแล้วถ้าไม่หยุดเพื่อรับฟังพระองค์
เราต้องมีเวลาพูดคุยกับพระองค์ โดยตัดความคิดอื่นๆ ไปให้หมด และถามพระองค์ว่า “มีอะไรบ้างที่พระองค์อยากเตือนให้เรานึกถึง มีความคิดใด หรืออะไรที่เราควรจะใส่ใจไหม” เราไม่อาจคาดหมายที่จะรับคำตอบจากพระองค์มากนัก นอกเสียจากว่าเราจะใช้เวลาเพื่อหยุดและรับฟังพระองค์
พวกเราแต่ละคนต้องทำการตัดสินใจนานัปการ เราต้องมีเวลาแสวงหาพระองค์เพื่อขอแนวทาง เราไม่มีวันตัดสินใจโดยรับการชี้นำจากพระวิญญาณ ถ้าหากไม่ใช้เวลากับพระองค์ ยิ่งการตัดสินใจเป็นเรื่องสำคัญมากแค่ไหน เราก็มักจะต้องใช้เวลากับพระองค์มากขึ้นเท่านั้น
ต้องอาศัยเวลานึกคิดและอธิษฐานถึงปัญหาต่างๆ ด้วยการนึกถึงสถานการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเงียบๆ ในขณะที่เราอยู่คนเดียว โดยให้พระองค์พูดกับเราถึงเรื่องดังกล่าว และนำความคิดของเรา พระองค์อาจให้ให้เรานำเสนอรายการคำถามที่ต้องได้รับคำตอบ แล้วบอกอย่างเร็วจี๋ที่ละข้อ และได้รับคำตอบทีละข้อ ด้วยนิมิตปาฏิหาริย์ชั่วแวบเดียว แต่พระองค์ไม่ได้บันดาลให้เป็นเช่นนั้น เพราะพระองค์ต้องการให้เรานึกถึงเรื่องต่างๆ ดูดีๆ ขณะที่พระองค์นำทางเรา
พระองค์กล่าวว่า “มาเถิด ให้เราหารือกัน”[1] พระองค์ชอบชี้นำความคิดของเรา ขณะที่เราทำสมาธิและอธิษฐาน รวมถึงขณะที่เราปรึกษาหารือกับคนอื่นด้วย
การหมั่นอธิษฐานและระมัดระวัง
บทเรียนเล็กๆ ที่ฉันได้เรียนรู้ และเรียนรู้อีกครั้ง คือ ไม่สำคัญมากนักว่าเราหมั่นอธิษฐานแค่ไหน ถ้าหากเราไม่ระมัดระวังด้วยเช่นกัน เราอธิษฐานมากเท่าไรก็ได้ตามที่ต้องการ และคาดหมายให้พระเจ้าทำส่วนของพระองค์ แต้ถ้าเราไม่ทำส่วนของเรา พระองค์ก็ทำส่วนของพระองค์ให้สำเร็จผลไม่ได้
ไม่นานมานี้มีสถานการณ์หนึ่งเกิดขึ้น ซึ่งฉันไม่ได้ระมัดระวังเท่าที่ควร ถึงแม้ว่าฉันอธิษฐานแล้ว เมื่อเห็นว่าสิ่งต่างๆ ไม่ได้ดำเนินไปตามที่คาดหวังไว้ ฉันถามพระองค์ว่า “แต่ฉันอธิษฐานแล้วนี่ ทำไมพระองค์ปล่อยให้เป็นเช่นนี้” ทันใดนั้นฉันได้รับคำตอบว่า “การหมั่นอธิษฐานที่ปราศจากความระมัดระวัง จะไม่ได้ผล” คุณไม่อาจคาดหมายให้พระองค์ทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อคุณ คุณต้องทำส่วนของคุณและร่วมมือด้วยการทำทุกอย่างเท่าที่คุณทำได้
แน่นอนว่านี่เป็นบทเรียนที่ฉันรู้อยู่แล้ว แต่ก็เป็นการดีที่ได้รับข้อเตือนใจ ในอีกแง่หนึ่ง เราอาจระมัดระวังอย่างมาก และพยายามทำสุดความสามารถ แต่ถ้าปราศจากการอธิษฐาน สิ่งเดียวกันอาจเกิดขึ้นได้ ความเพียรพยายามของเราอาจไม่ประสบผลสำเร็จเลย เพราะพระองค์ต้องการสอนเราว่า ถ้าปราศจากพระองค์ เราก็ทำอะไรไม่ได้เลย เราต้องหมั่นอธิษฐาน และระมัดระวังด้วย
ให้พระองค์ดำเนินงานก่อน
เมื่อฉันเผชิญหน้ากับปัญหาต่างๆ ดังที่เกิดขึ้นกับพวกเราส่วนใหญ่บ่อยครั้ง ฉันมักจะมีปฏิกิริยาตอบรับอันดับแรก ว่า “ฉันทำอะไรได้บ้างกับสถานการณ์นี้ พระองค์ อะไรคือคำตอบ ฉันทำอะไรได้บ้างที่จะระงับหรือช่วยแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าว” แต่ปฏิกิริยาตอบรับอันดับแรกควรจะเป็นการขอให้พระองค์ดำเนินงานในสถานการณ์นั้นก่อน และทำสิ่งที่พระองค์เท่านั้นทำได้
แน่นอนว่าบางครั้งพระองค์ก็ต้องการให้เราทำอะไรบางอย่างในทันที แต่ในขณะเดียวกันเราควรจะสำนึกดีว่าเราต้องการความช่วยเหลือจากพระองค์ และเราควรจะกล่าวว่า “โปรดดำเนินงานในสถานการณ์นี้ด้วยพระองค์” จากนั้นก็อธิฐานว่า “ขอพระองค์ช่วยให้ฉันทำส่วนของฉัน”
บ่อยครั้งเหลือเกินที่ฉันอธิษฐานทันทีว่าฉันทำอะไรได้บ้าง และฉันควรหาทางแก้ไขอย่างไร ทั้งๆ ที่มีอะไรมากมายที่พระองค์ทำได้ก่อน ด้วยพระวิญญาณของพระองค์ หรืออย่างน้อยก็ทำพร้อมกับสิ่งที่พระองค์ชี้ให้ฉันเห็นว่าควรทำอะไร
เมื่อคุณทำอะไรไม่ได้เลย นอกจากอธิษฐาน บ่อยครั้งก็ง่ายกว่าที่จะฝากไว้กับคำอธิษฐานจริงๆ แต่เมื่อคุณมีอำนาจทำอะไรได้เกี่ยวกับสถานการณ์ใด บ่อยครั้งดูเหมือนง่ายกว่าและรวดเร็วกว่าที่จะพยายามคิดหาทางแก้ไขเอง
การด่วนเข้าไปจัดการกับปัญหา โดยทำสิ่งที่เราทำได้เพื่อแก้ไข “สิ่งที่ผิดให้ถูกต้อง” และปะติดปะต่อส่วนต่างๆ เข้าด้วยกัน เราอาจแย่งชิงอำนาจมาจากพระองค์ และแทรกแซงเรื่องที่พระองค์ต้องการทำ นี่เป็นทรรศนะที่ฉันมีโดยไม่รู้ตัว พระองค์ชี้ให้ฉันเห็นว่า ในขณะที่ฉันอาจมีอำนาจทำอะไรสักอย่างกับสถานการณ์นั้น แต่ก็ไม่ใช่ความประสงค์สูงสุดของพระองค์เสมอไป สิ่งแรกที่สำคัญเหนืออื่นใดที่เราควรทำคือ ขอให้พระองค์ดำเนินการในสถานการณ์นั้นอย่างปาฏิหาริย์ และบันดาลให้เปลี่ยนไปตามที่พระองค์ประสงค์ เมื่อนั้นพระองค์ก็ใช้เราได้ตามที่พระองค์ต้องการในสถานการณ์ดังกล่าว
พระองค์เตือนใจฉันว่า “ไม่ดีกว่าหรือถ้าเจ้าจะอธิษฐานให้เราดำเนินงานในสถานการณ์นั้นก่อน ขอให้เราเปลี่ยนสถานการณ์ เปลี่ยนใจ เปลี่ยนทรรศนะ และทำปาฏิหาริย์เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ก่อนที่เจ้าจะเข้าไปทำอะไรด้วยกำลังทางเนื้อหนัง
บ่อยครั้งเราล้ำหน้าพระองค์ไปก่อน โดยไม่ให้เวลาพระองค์ดำเนินงาน เราแย่งชิงตำแหน่งไปจากพระองค์ เราเข้ามาแทรกแซงสิ่งที่พระองค์ต้องการทำ รวมทั้งความมหัศจรรย์ที่พระองค์อยากได้รับสง่าราศีและความดีความชอบ บ่อยครั้งเหลือเกินที่เราเข้าไปพยายามทำสิ่งต่างๆ ด้วยพละกำลังของเราเอง โดยไม่ได้ขอพระองค์อย่างสุดจิตสุดใจให้ดำเนินงานด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ เราไม่ได้ตระหนักเลยว่า ถึงยังไงทางแก้ของเราจะไม่ได้ผลดีมากนัก ถ้าหากพระองค์ไม่ดำเนินงานในผู้คน ด้วยพระวิญญาณของพระองค์
บ่อยครั้งดูเหมือนว่าเป็นการง่ายกว่าที่เราจะมัวยุ่ง และตัดสินใจว่าควรทำอะไรกับสถานการณ์นั้น แทนที่จะอธิษฐานสุดจิตสุดใจและขอให้พระองค์ดำเนินงาน นั่นทำให้เรารู้สึกว่ามีประโยชน์ และรู้สึกว่าเราทำหน้าที่จริงๆ เพราะเราหาคำตอบและทางแก้ไข
คำอธิษฐานสำคัญประการแรกของเราควรจะเป็นการขอให้พระองค์ดำเนินงานในสถานการณ์และชีวิตจิตใจผู้คน หลังจากที่เรา “มอบหนทางไว้กับพระองค์” และ “ฝากภาระไว้ให้พระองค์ดูแล”[2] จากนั้นเราก็ไว้วางใจให้พระองค์มอบแนวทางว่าเราควรจะมีบทบาทอย่างไร
มีเวลาที่ควรจะรอคอย และก็มีเวลาที่ควรจะลงมือทำอย่างรวดเร็ว เราต้องขอสติปัญญาจากพระองค์ให้มีวิจารณญาณว่าต้องทำอะไรบ้าง บ่อยครั้งเราจะพบว่าเมื่อเรามอบสถานการณ์ให้พระองค์จัดการ โดยอธิษฐานขอให้พระองค์เปลี่ยนสิ่งต่างๆ และเราให้เวลาพระองค์ดำเนินงาน พระองค์ก็จะจัดการและชี้ให้เราเห็นอย่างชัดเจนด้วยว่าเราทำอะไรได้บ้าง
จัดพิมพ์ครั้งแรกเดือนมีนาคม ค.ศ.1990 ปรับเปลี่ยนและจัดพิมพ์ใหม่เดือนกันยายน ค.ศ.2014