ตัดสินด้วยความชอบธรรม

กุมภาพันธ์ 13, 2017

โดย ปีเตอร์ อัมสเตอร์ดัม

[Judging Right Judgment]

มีความสับสนที่อาจเกิดขึ้นบางครั้งในการดำเนินชีวิตของคริสเตียน ระหว่างยามที่ควรจะปฏิบัติตามบัญญัติของพระเยซูว่า “อย่ากล่าวโทษเขา เพื่อท่านจะไม่ต้องถูกกล่าวโทษ”[1] และยามที่ควรจะ “ตัดสินด้วยตามความชอบธรรม”[2] เราได้รับคำบัญชาให้ทำทั้งสองอย่าง คืออย่าตัดสินและอย่าประณามผู้อื่น กับการตัดสินด้วยความชอบธรรม ซึ่งต้องอาศัยวิจารณาณ การประเมินผล และการแยกแยะให้ออก ระหว่างสิ่งที่ถูกต้องกับสิ่งที่ผิด และ “ละ[หรือหลีก]ความชั่ว และเลือกความดี”[3]

หนึ่งในกับดักที่พวกเราซึ่งเป็นคริสเตียนต้องประสบ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในขั้นตอนการเติบโต และกลายเป็นคริสเตียนผู้มีวุฒิภาวะ คือแนวโน้มที่ต้องการตราหน้าหรือตัดสินผู้คนหรือสถานการณ์แบบเหมารวม หรือพิจารณาประเด็นต่างๆ ด้วยการแยกแยะไว้อย่างตายตัว เพื่อจะได้ใช้วิจารณาณและตัดสินง่ายขึ้นว่าอะไรถูกอะไรผิด ในฐานะที่เป็นคริสเตียน เราได้รับมอบหมายให้มีความเชื่อมั่น และยินดี “ตอบคำถามต่อผู้ใดที่ถามเรา ถึงเหตุผลที่เรามีศรัทธาและความหวัง” โดยที่ “​ตอบ​เขา​อย่าง​สุภาพ​และ​เคารพ​นบนอบ”[4] ส่วนหนึ่งในการเป็นสาวกคริสเตียนคือการบ่งบอกและแยกแยะประเด็นต่างๆ รวมถึงทรรศนะและการกกระทำ ว่าอะไรถูกอะไรผิด อะไรเป็นที่ยอมรับ และอะไรไม่เป็นที่ยอมรับ เพื่อจะได้ตัดสินอย่างถูกต้องเหมาะสม ทว่าการที่เรามีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น การแบ่งปันความศรัทธาและความเชื่อมั่นของเรา เราได้รับมอบหมายให้ทำเช่นนั้นอย่างนุ่มนวล ด้วยความเคารพนับถือ 

หลักความเชื่อของคริสเตียนประมวลหลักจริยธรรมที่ชัดเจน และพระคัมภีร์สอนเราว่าควรคาดหมายอะไรบ้างจากผู้มีความเชื่อ พระเยซูสอนไว้ในพระกิตติคุณโดยตลอดถึงข้อแตกต่างระหว่างสิ่งที่ถูกกับสิ่งที่ผิด ความดีกับความชั่ว ความประสงค์ของพระเจ้ากับความประสงค์ของตนเอง อัครสาวกก็ชี้แจงถึงเรื่องนั้น โดยกำหนดหลักเกณฑ์และนโยบายเพื่อปกครองเหล่าผู้มีความเชื่อ ด้วยการมอบหลักการที่จะคงอยู่ตลอดไป คือการแบ่งปันความรักของพระเจ้า และการเจริญรอยตามพระเยซู ในการดำเนินชีวิตตามแบบอย่างของพระเจ้า

แม้ว่าพระเยซูจะกล่าวคัดค้านทรรศนะและการปฏิบัติต่อผู้อื่น ด้วยการตัดสินความถูกความผิด แต่เห็นได้ชัดว่าในฐานะที่เป็นรายบุคคล เรายังคงต้อง “ตัดสินด้วยความชอบธรรม”[5] โดยประเมินผล และมีวิจารณาณว่าสิ่งใดเป็นทางเลือกที่ดีหรือไม่ค่อยดี สิ่งใดถูกต้องตามหลักจริยธรรมหรือไม่ การตัดสินใจดังกล่าวไม่มีเครื่องหมายกำกับที่ชัดเจน และตรงไปตรงมาเสมอ เป็นธรรมดาที่จะไตร่ตรองทรรศนะ การกระทำ หรือพฤติกรรมที่เราเห็นรอบข้าง และพยายามแยกแยะว่าถูกถือผิด ดีหรือเลว เป็นทางเลือกที่ดีหรือไม่ค่อยดี

การไม่ตัดสินความถูกความผิด ไม่ได้หมายความว่าเราไม่อาจหรือไม่ควรจะประเมินความถูกต้องของสิ่งต่างๆ โดยวัดดูจากมาตรฐานในพระคำของพระเจ้า และเสริมสร้างความเชื่อมั่นใจตามนั้น ยกตัวอย่างเช่น ถ้าใครทำสิ่งใดที่น่าตำหนิตามหลักจริยธรรม คุณคงสรุปได้ว่าการกระทำของเขาผิดหลักจริยธรรม คุณอาจได้รับการนำพาให้กล่าวคัดค้าน โดยเฉพาะถ้าการกระทำนั้นมีอิทธิพลหรือก่อให้เกิดผลเสียต่อผู้อื่น

อย่างไรก็ตาม มีบางครั้งที่แยกแยะไม่ค่อยออกว่าอะไรถูกอะไรผิด และไม่ประจักษ์ชัดว่าทางเลือกนั้นถูกหรือผิด บางครั้งสิ่งที่ดูเหมือนว่าถูกหรือผิด ต่อมากลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม บางครั้งเราตัดสินผิดพลาด และเราเรียนรู้จากความผิดพลาดนั้น หรือมีบางสิ่งที่ผิดโดยทั่วไป เช่นการใช้กำลังรุนแรง แต่อาจจะถูกในกรณีที่นานๆ เกิดขึ้น เมื่อจำเป็นต้องป้องกันตนเอง หรือผู้อื่นที่ตกอยู่ในอันตราย

แน่นอนว่ามีหลายสิ่งที่ชัดเจนและตายตัวเสมอ โดยที่ประจักษ์ชัดในทันทีว่าอะไรถูกอะไรผิด ยกตัวอย่างเช่น เรารู้ว่าเป็นการผิดที่จะตั้งใจทำร้าย ฉ้อโกง ลักขโมย หรือเอาเปรียบผู้อื่น ฯลฯ มีข้อกำหนดที่ชัดเจนสำหรับการประพฤติปฏิบัติ และสิ่งที่พระเจ้าคาดหมายจากเรา นอกจากนี้พระองค์มอบความรู้สึกผิดชอบชั่วดีให้แก่เราด้วย ซึ่งเราจะสำนึกได้เมื่อเราทำสิ่งที่ผิดในบางแง่

แต่เป็นไปไม่ได้เสมอที่จะบ่งบอกอย่างง่ายดายว่า “ถูก” หรือ “ผิด” เมื่อกล่าวถึงการตัดสินใจของผู้อื่น สถานการณ์ หรือเหตุการณ์ต่างๆ พระเยซูกล่าวไว้ว่าเราจะดูออกหรือสังเกตเห็นได้จากผล[6] ซึ่งหมายความว่าเราจะไม่รู้ว่าบางสิ่งก่อให้เกิดผลดีหรือเปล่า ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง จนกว่าจะดำเนินไปแล้ว และเราสังเกตเห็นผลลัพธ์ได้ดีขึ้น จากการตัดสินใจหรือสถานการณ์บางอย่าง นี่เองจึงจำเป็นที่จะต้องแสวงหาแนวทางเฉพาะเจาะจงจากพระองค์บ่อยครั้ง สำหรับสถานการณ์และการตัดสินใจ เพื่อจะได้เข้าใจดีขึ้นว่าควรนำหลักการในพระคำมาปรับใช้อย่างไรกับสถานการณ์นั้นโดยเฉพาะ

แม้ว่าจะเป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่บางครั้งก็จำเป็นที่จะประเมินผล และพิจารณาเหตุผลต่างๆ ในการตัดสินใจและการกระทำของผู้อื่น โดยหยั่งดูกับหลักจริยธรรม แต่ไม่ใช่ว่าเราควรจะปฏิบัติต่อผู้คนอย่างขาดความรัก ตัดสินความถูกความผิด หรือด่วนประณามผู้อื่น เพราะทางที่เขาเลือก พระเจ้าผู้เดียวอยู่ในตำแหน่งที่จะตัดสินได้อย่างมีสติปัญญาและเป็นธรรม เราไม่อาจล่วงรู้ถึงภาระหนักอึ้งที่ผู้คนต้องแบกรับไว้ หรือเหตุผลต่างๆ ว่าทำไมเขาจึงเลือกเช่นนั้น แต่เราอธิษฐานให้เขาได้แน่นอน เราพยายามหยิบยื่นการเกื้อหนุน คำปรึกษา หรือคำแนะนำให้เขาได้ เมื่อเหมาะสม แต่ผู้คนคงจะไม่เปิดใจรับคำปรึกษาและคำแนะนำที่ควบคู่มากับวิญญาณการตัดสินความถูกความผิด

ในฐานะที่เป็นคริสเตียน เราไม่ควรรู้สึกว่าเราจำต้องตัดสินทรรศนะหรือการกระทำของผู้อื่น เราควรห่วงใยมากกว่าที่จะช่วยเหลือผู้คน และรักเขาเข้ามาสู่สวรรค์ แทนที่จะมัวตัดสินเขาขณะที่อยู่ในโลกนี้ พระเจ้าคือผู้ตัดสิน พระองค์ล่วงรู้จิตใจผู้คน พระองค์เข้าใจทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับเขา ในทางที่เราไม่มีวันทำได้ พระองค์ไม่ต้องให้เราช่วยตัดสินผู้คน พระเยซูไม่ได้มอบหมายให้เราทำเช่นนั้น

แม้ว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่จะนึกในใจว่าการกระทำของบางคนเป็นเช่นไร แต่ผลสุดท้ายข้อสำคัญอยู่ที่การปฏิบัติต่อบุคคลนั้น และการที่เราตอบรับเขา แน่นอนว่าเราจำเป็นต้องสอนบุตรหลานแลผู้มีความเชื่อใหม่ให้ตัดสินใจเลือกตามหลักจริยธรรม โดยสังเกตระหว่างความประพฤติที่ถูกต้องตามหลักจริยธรรม กับความประพฤติที่ผิดและไม่เป็นไปตามแบบอย่างของพระเจ้า เราต้องปลูกฝังพื้นฐานที่มั่นคงในข้อพระคำ เพื่อที่จะเข้าใจพระคัมภีร์ และหลักจริยธรรมของคริสเตียน เราจะได้ตัดสินใจโดยที่ยึดพระคำของพระเจ้าเป็นพื้นฐาน แต่การที่จะทำเช่นนั้น เราต้องไม่ลืมนึกถึงความรักที่พระเยซูมีต่อทุกคนอย่างไร้ขอบเขตจำกัด

เราต่างก็เป็นคนบาป และเป็นมนุษย์ปุถุชนที่มีกิเลสเหมือนกัน เราต้องการความรัก ความเมตตา และการให้อภัยจากพระเยซูอย่างที่สุด เราได้รับมอบหมายให้แบ่งปันความรักของพระองค์กับผู้อื่น รวมทั้งแบ่งปันพลังอำนาจของพระองค์ ในการที่จะให้อภัยต่อบาป และยึดที่มั่นในชีวิตเรากลับคืนมาจากความบาป ความรักของพระเยซูไม่มีเงื่อนไข และบดบังบาปเหลือคณานับ[7] ไม่มีบาปใดที่พระเยซูไม่อาจไถ่ถอนและชำระล้างด้วยโลหิตของพระองค์[8]

จัดพิมพ์ครั้งแรก เดือนกันยายน ค.ศ. 2010 ปรับเปลี่ยนและจัดพิมพ์ใหม่ เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 201


[1] มัทธิว 7:1

[2] ยอห์น 7:24

[3] 1 เปโตร 3:11

[4] 1 เปโตร 3:15

[5] ยอห์น 7:24

[6] มัทธิว 7:20

[7] ยากอบ 5:19–20; 1 เปโตร 4:8

[8] 1 ยอห์น 1:7

Copyright © 2025 The Family International