มีนาคม 11, 2013
ตอนที่ผมทำการค้นคว้าสำหรับงานเขียนชิ้นหนึ่ง ผมอ่านเจออะไรที่ทำให้ผมฉุกคิดขึ้นมา เป็นข้อพระคัมภีร์ที่คุ้นหูกัน ซึ่งผมอ่านและได้ยินได้ฟังมานับร้อยนับพันครั้งแล้ว แต่เมื่อคิดคำนึงลึกๆ โดยนึกถึงการนำมาปฏิบัติ และผลกระทบใหญ่หลวงที่ตามมา ถ้าหากว่าละเลยไปเสีย ผมก็สำนึกถึงความสำคัญอย่างถ่องแท้มากขึ้น การมีความผิดจากการละเลยข้อนี้ ทำให้ผมตกใจทีเดียว
ในมัทธิว 6:14-15 กล่าวว่า
เพราะว่าถ้าท่านยกโทษให้ผู้อื่น พระบิดาของท่านผู้ทรงสถิตในสวรรค์จะโปรดยกโทษให้ท่านด้วย แต่ถ้าท่านไม่ยกโทษให้ผู้อื่น พระบิดาของท่านจะไม่โปรดยกโทษให้ท่านเหมือนกัน
ในข้อความนั้นไม่มีทางหลบหลีกเลย เราจะยกโทษหรือไม่ยกโทษผู้อื่น มีผลกระทบโดยตรงต่อการที่พระเจ้าจะยกโทษหรือไม่ยกโทษเรา[1] ผมตระหนักว่านี่เป็นสิ่งที่ต้องสำนึกอย่างยิ่ง
พระเยซูกล่าวถึงประเด็นนี้ไว้อีกสองแห่งในพระกิตติคุณ
อย่าตัดสินเขา และท่านจะไม่ถูกตัดสิน อย่ากล่าวโทษเขา และท่านจะไม่ถูกกล่าวโทษ จงยกโทษให้เขา และท่านจะได้รับการอภัยโทษ[2]
เมื่อท่านยืนอธิษฐานอยู่ ถ้าท่านมีเหตุกับผู้หนึ่งผู้ใด จงยกโทษให้ผู้นั้นเสีย เพื่อพระบิดาของท่าน ผู้ทรงสถิตในสวรรค์ จะโปรดยกโทษท่านด้วย[3]
เปโตรตั้งคำถามที่ประจักษ์ชัด เมื่อเขาถามว่า
“หากพี่น้องจะกระทำผิดต่อข้าเรื่อยไป ข้าควรจะยกความผิดของเขาสักกี่ครั้ง ถึงเจ็ดครั้งหรือ" พระเยซูตรัสตอบเขาว่า "เรามิได้ว่าเพียงเจ็ดครั้งเท่านั้น แต่เจ็ดสิบครั้งคูณด้วยเจ็ด” (เท่ากับ 490 ครั้ง) [4]
พระเยซูใช้จำนวนที่มากพอสมควร เพื่อบ่งบอกถึงความคิดของพระองค์ ว่าเราควรจะยกโทษให้พี่น้องกี่ครั้ง โดยสาธิตให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการให้อภัยเป็นสิ่งที่สำคัญ และเป็นสิ่งที่เราควรจะทำ
พระองค์เน้นย้ำประเด็นดังกล่าว ด้วยการใช้จำนวนมากๆ ในอีกกรณี ขณะที่เล่าเรื่องกษัตริย์ผู้ซึ่งต้องการคิดบัญชีหนี้สินกับบริวารผู้รับใช้
ชายคนหนึ่งเป็นหนี้กษัตริย์หนึ่งหมื่นตะลันต์ หนึ่งตะลันต์เทียบเท่ากับ 125 ปอนด์ หรือ 2,000 ออนซ์ ชายผู้นี้ต้องใช้หนี้กษัตริย์ เป็นทองคำหรือเงิน 20 ล้านออนซ์ ถ้าหากเป็นเงิน อัตราในปัจจุบันก็เทียบเท่ากับ 560 ล้านดอลล่าร์ ถ้าเป็นทองคำ คงจะราวๆ 27 พันล้านดอลล่าร์[5] ไม่ว่าจะเป็นกรณีใด เมื่อไรก็ตาม นั่นเป็นหนี้สินจำนวนมหาศาล เพราะชายคนนั้นใช้หนี้ไม่ได้ กษัตริย์จึงสั่งให้นำชายคนนั้น รวมทั้งภรรยา บุตร และทรัพย์สินไปขาย เขาอ้อนวอนขอให้กษัตริย์ผ่อนปรน กษัตริย์เวทนาจึงปล่อยเขาไป และยกหนี้ให้
น่าเศร้าที่ว่าหลังจากนั้นผู้รับใช้ไปเจอเพื่อนผู้รับใช้ ที่เป็นหนี้เขาหนึ่งร้อยเดนารี่ ซึ่งเทียบเท่ากับค่าจ้างหนึ่งวันในสมัยนั้น (สารานุกรมวิกิพีเดียกล่าวว่าค่าจ้างหนึ่งวันในสมัยนั้นเท่ากับ 20 ดอลล่าร์สมัยนี้ ถ้าเช่นนั้น เพื่อนผู้รับใช้ก็เป็นหนี้เขา 2,000 ดอลล่าร์) ผู้รับใช้ที่ได้รับการให้อภัย ไม่ยอมยกหนี้แก่เพื่อนผู้รับใช้ด้วยกัน และแจ้งความให้จับกุมเขา
เมื่อกษัตริย์ทราบเรื่องดังกล่าว จึงเรียกผู้รับใช้ที่ได้รับการให้อภัยมาหา กล่าวว่า
“เจ้าผู้รับใช้ชั่ว เรายกหนี้ให้เจ้าหมด เพราะเจ้าได้อ้อนวอนเรา เจ้าควรจะเมตตาเพื่อนผู้รับใช้ด้วยกัน เหมือนเราได้เมตตาเจ้ามิใช่หรือ” แล้วเจ้านายก็กริ้ว จึงมอบผู้นั้นไว้แก่ผู้คุมเรือนจำ จนกว่าเขาจะใช้หนี้หมด[6]
พระเยซูจบเรื่องดังกล่าวด้วยข้อความที่เตือนสติว่า
พระบิดาของเราผู้ทรงสถิตในสวรรค์จะกระทำแก่ท่านทุกคนอย่างนั้น ถ้าหากว่าท่านแต่ละคนไม่ยกโทษให้แก่พี่น้องของท่านจากใจ[7]
เห็นได้ชัดว่าการให้อภัยพี่น้องเป็นสิ่งที่สำคัญ และการไม่ยกโทษจะยังผลให้พระเจ้าไม่ยกโทษคุณ ต่อหนี้สินและความผิดที่คุณได้ทำ
มีบางครั้งเมื่อผู้อื่นทำบาปหรือก่อผลเสียต่อเรา ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม เช่นเดียวกับที่เราก่อผลเสียหรือทำบาปต่อเขา ผู้คนอาจปฏิบัติต่อเราอย่างไม่เป็นธรรมบ้าง เขาอาจหลอกลวงเรา ลักขโมย ใส่ร้ายป้ายสี หรือนินทาเราลับหลัง เขาอาจฉ้อโกงหรือต้มตุ๋นเรา เขาอาจผิดสัญญาที่ให้ไว้ ไม่ว่าจะเป็นกรณีใดก็ตาม ไม่ว่าจะมีความผิดอะไร ไม่ว่าจะส่งผลเสียเช่นไร มีคำบัญชาว่าเราควรจะให้อภัย
การยกโทษไม่ได้หมายความว่าอีกฝ่ายหนึ่งถูก ไม่ใช่ว่าความสูญเสียหรือผลร้ายจากการกระทำของเขาหมดสิ้นไปแล้ว เพียงแต่หมายความว่าแทนที่จะจดจ่อกับข้อที่ว่าใครผิดใครถูก คุณปล่อยให้เป็นเรื่องของพระเจ้า รวมทั้งผลที่ตามมาจากการกระทำของบุคคลผู้นั้น คุณเลือกทางที่เหนือกว่า ด้วยการให้อภัย
น่าสนใจที่ว่าคำอุปมาอุปไมยเรื่องผู้รับใช้ที่ไม่ยอมให้อภัยคนนั้น มีเงินเป็นเครื่องชี้วัดเกี่ยวกับการให้อภัย ด้วยเหตุผลบางอย่าง เมื่อใครเอาเงินคุณไป ไม่ว่าจะเป็นการลักขโมย หรือก่อผลเสียต่อหนทางการหาทุนทรัพย์ เป็นการยากที่จะให้อภัยเขา
เราทุกคนทำบาป เราแต่ละคนขาดสง่าราศีของพระเจ้า เช่นเดียวกับผู้รับใช้ที่ไม่ยอมให้อภัย เนื่องจากเราทำบาป เราแต่ละคนเป็นหนี้พระเจ้าอย่างมหาศาล จนไม่มีทางที่พวกเราคนใดจะชดใช้ได้เลย แต่พระเจ้าให้อภัยเรา ผ่านพระเยซู แล้วร้องขอให้เรายกโทษผู้อื่นเช่นกัน
จงเมตตาต่อกัน มีใจเอ็นดูต่อกัน และอภัยโทษให้กัน เหมือนดังที่พระเจ้าโปรดอภัยโทษให้ท่าน เพราะเห็นแก่พระคริสต์ [8]
เมื่อมีมุมมองเช่นนั้น คือว่าถ้าเราไม่ให้อภัยผู้อื่น เมื่อเขาทำบาปต่อเรา พระเจ้าก็จะไม่ให้อภัยเรา เมื่อเราทำบาปต่อพระองค์ เป็นสิ่งที่น่าหวาดหวั่นทีเดียว นี่ทำให้เราเกิดความสำนึกอย่างแน่นอน ส่วนที่ดีก็คือ เราอาจเล็งเห็นว่าเป็นคำสัญญาด้วย คือถ้าเราให้อภัยผู้อื่น พระเจ้าก็จะให้อภัยเรา ถ้าเรามีเมตตา เราก็จะได้รับความเมตตา ถ้าเราให้อภัย เราก็จะได้รับการให้อภัย ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่ใครผิดใครถูก แต่อยู่ที่การให้อภัยจากใจต่างหาก
ในฐานะที่เป็นผู้ซึ่งพระเจ้าทรงเลือกไว้ เป็นผู้ที่บริสุทธิ์ และเป็นผู้ที่ทรงรัก จงมีใจเมตตาปรานี ถ่อมตัว เจียมตน และอดทน จงผ่อนหนักผ่อนเบาซึ่งกันและกัน ถ้าแม้ว่าผู้ใดมีเรื่องราวต่อกัน ก็จงยกโทษให้กันและกัน พระคริสต์โปรดยกโทษให้ท่านฉันใด ท่านจงกระทำอย่างนั้นเหมือนกัน แล้วจงสวมความรักทับสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด เพราะความรักย่อมผูกพันทุกสิ่งไว้ให้ถึงซึ่งความสมบูรณ์ [9]
จัดพิมพ์ครั้งแรก เดือนมีนาคม ค.ศ.2011 จัดพิมพ์ใหม่ที่ไซต์จุดยึดเหนี่ยว เดือนมีนาคม ค.ศ.2013
Copyright © 2025 The Family International